เทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลแห่งความสุขของคนไทย เพราะนอกจากจะมีวันหยุดยาว ๆ ให้เราได้เล่นสาดน้ำคลายร้อนกันแล้ว เทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นเทศกาลที่สมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงาน ไปอยู่อาศัยในต่างถิ่น จะได้เดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้อง และอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว
นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวไทยส่วนใหญ่จึงนิยมไปทำบุญใส่บาตรที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคกลางที่มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ละแห่งก็มีรูปแบบการจัดงาน และกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของท้องถิ่น ส่วนจะมีที่ไหนน่าสนใจบ้าง ตาม ททท.สำนักงานกาญจนบุรี ไปเที่ยวกัน
สงกรานต์หาดทรายลูกแก
สงกรานต์งานแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้พบ เมื่อเดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดกาญจนบุรี งานจัดบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป ชวนมานั่งชิลรับลม ชมพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำ ฟังเพลงโฟล์คซอง ทานอาหารอร่อย ๆ ของชุมชน พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
และสนุกสนานกับรำวงย้อนยุค ปีนี้เทศบาลตำบลลูกแก เน้นลดโลกเลอะด้วยการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก และเลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร พร้อมชวนนักท่องเที่ยวแต่งกายในธีมงานวัดมาร่วมงาน
13-16 เมษายน นี้ พบกันที่ หาดทรายลูกแก ต.ลูกแก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ( แผนที่ : https://goo.gl/maps/jqBGvaGHwkS2 )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 034 540884 ต่อ 19
สงกรานต์บ้านหนองขาว
ชุมชนบ้านหนองขาว ชวนเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์บ้านหนองขาว “ผ้าขาวม้าร้อยสี สืบสานงานประเพณี สู่วิถีชุมชน” เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2562 ณ ลานวัฒนธรรม วัดอินทาราม ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ที่ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวหนองขาวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ภายในวัดมีวิหารที่เป็นที่ประดิษฐานพระปางป่าเลไลยก์ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงปู่โต” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งของชาวหนองขาวทุกคน ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ชาวหนองขาวจะร่วมกันจัดงานปิดทองสมโภชฉลององค์พระ เพื่อให้ลูกหลานภายในหมู่บ้าน หรือที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้มากราบนมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคล
ไฮไลท์ของงาน ได้แก่ ขบวนแห่นางสงกรานต์ ด้วยวัวเทียมเกวียนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม รวม 40 ขบวน (มีเฉพาะในวันที่ 13 เมษายน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป)
ชมการแสดงละครเพลงพื้นบ้านวัฒนธรรมบันเทิง “ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว” ที่แสดงโดยชาวบ้านหนองขาวทุกวัยกว่าร้อยชีวิต สนุกสนานกับรำวงย้อนยุค อิ่มอร่อยกับซุ้มอาหารพื้นบ้านของชาวหนองขาว ชมการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การเดินแฟชั่นโชว์การกุศล การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และกิจกรรมสรงน้ำพระ
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้เส้นทางถนนอู่ทอง ทางหลวงหมายเลข 324 (กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี) ออกจากตัวเมืองกาญจน์ไปประมาณ 12 ก.ม. วัดอินทาราม จะอยู่ติดถนนทางด้านซ้ายมือ ( แผนที่ : https://goo.gl/maps/koKwzs57n922 ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 093 751 6555
สงกรานต์มอญ อ.สังขละบุรี
หนึ่งในงานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 เมษายน นักท่องเที่ยวจะได้ชมการขนทรายไปก่อพระเจดีย์ของชาวมอญ การขนน้ำไปอาบน้ำให้ผู้สูงอายุที่ไปถือศีลอยู่ที่วัดในช่วงเย็น
และพลาดไม่ได้กับไฮไลท์ของงานคือ การสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านนำมามัดต่อ ๆ กัน ตื่นตากับแรงศรัทธาของผู้คนที่พร้อมใจกันนอนเรียงรายต่อกันเพื่อให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลังในพิธีสรงน้ำพระ จัดที่บริเวณลานด้านหน้าเจดีย์พุทธคยา (มีเฉพาะวันที่ 17 เมษายน เริ่มเวลาประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป )
และปิดท้ายงานกับความอลังการในพิธีแห่กองผ้าป่า และยกฉัตรเจดีย์ทราย ในช่วงเช้าวันที่ 18 เมษายน เวลาประมาณ 08.00 น.
สถานที่จัดงาน : วัดวังก์วิเวการาม และบริเวณเจดีย์พุทธคยา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี – ไทรโยค-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี) ระยะทางจากตัวเมืองกาญจน์ ประมาณ 220 ก.ม. ( แผนที่เจดีย์พุทธคยา : https://goo.gl/maps/F5jMn8JgSxz )นักท่องเที่ยวควรจองที่พักล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : คุณอรัญญา เจริญหงษ์ษา โทร. 089 092 5140, 089 514 2398
สงกรานต์เทศบาลเมืองกาญจนบุรี
ย้อนกลับมาที่ในเขตตัวเมือง เทศบาลเมืองกาญจนบุรี ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมทำบุญใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง, ชมขบวนแห่นางสงกรานต์, ขบวนสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์, ร่วมสรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ งานจัดในวันที่ 13 เมษายน ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ( แผนที่ : https://goo.gl/maps/hFRsu7v9mzk )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองกาญจนบุรี โทรศัพท์ (034) 511502 ต่อ 132
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง อ.หนองปรือ
ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง เกิดจากความเชื่อของบรรพบุรุษชาวหนองปรือในอดีต ที่มีเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่มีความเชื่อว่าการได้ถวายน้ำผึ้งเป็นพุทธบูชาจะได้อานิสงส์ยิ่ง ตามที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติ จึงทำให้เกิดประเพณีการตีผึ้งขึ้นในเดือนเมษายน ชาวบ้านที่เป็นชายจะหยุดกิจการงานทั้งปวง เพื่อออกหาผึ้ง และนำน้ำผึ้งมาถวายพระสงฆ์
ส่วนรังผึ้งชาวบ้านจะนำมารวมกันแล้วเคี่ยวทำเป็นเทียนถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้จุดบูชาพระ หรือจุดให้แสงสว่างเวลาศึกษาพระธรรมในตอนกลางคืน อีกส่วนหนึ่งจะนำมาทำเป็นปราสาท แกะสลักตกแต่งอย่างสวยงาม และแห่ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด โดยปัจจุบันเมื่อมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงแล้ว อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของวัสดุที่ใช้ทำปราสาทผึ้งไปบ้าง แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
โดยปีนี้ประเพณีสงกรานต์แห่ปราสาทผึ้ง กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน ที่ วัดหนองปรือ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ไฮไลท์ของงานได้แก่ การแห่ปราสาทผึ้งด้วยขบวนรถที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามของชุมชนต่าง ๆ (จัดเฉพาะวันที่ 17 เมษายน ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป) การทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระที่วัด การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ ดนตรี และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งตามถนนแสงชูโต ไปถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน ตรงไปตามทางหลวง 3199 อีก 1 ก.ม. เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 3398 วิ่งตรงไปจนสุดทาง จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง 3086 มุ่งหน้า อ.บ่อพลอย – อ.หนองปรือ รวมระยะทางจากตัวเมืองกาญจน์ ถึงวัดหนองปรือ ประมาณ 76 ก.ม. (แผนที่ : https://goo.gl/maps/tE7G8orZqzD2 )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานเทศบาลตำบลหนองปรือ โทร. 034 674200
ประเพณียกธงสงกรานต์บ้านเบญพาด อ.พนมทวน
หนึ่งใน UNSEEN ของงานประเพณีสงกรานต์ของเมืองกาญจน์ ต้องยกให้ที่นี่ งานบุญเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 200 ปีของชาวบ้านเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน นิยมจัดขึ้นก่อนหน้าวันสรงน้ำพระ 1 วัน สำหรับปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน โดยชาวบ้านเบญพาดแต่ละหมู่ จะร่วมกันทำธงที่ทำจากลำไม้ไผ่ขนาดยาว และตกแต่งประดับประดาด้วยผืนผ้าสี ที่ใช้ไม้ผูกทำเป็นผัง มีใบตาลสานเป็นปลา และเครื่องตกแต่งประกอบอื่น ๆ อย่างสวยงาม
โดยมีอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สัญลักษณ์รูปหัวพญานาค และหางพญานาค ซึ่งทำจากไม้หรือวัสดุอย่างอื่น นำมาแกะสลักหรือวาดเป็นรูปพญานาค ทาสีให้สวยงาม แล้วนำติดกับลำไม้ไผ่ ห่างจากโคนไม้ไผ่ประมาณ 4 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการขอฝน โดยชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ถ้านำรูปสัญลักษณ์ของพญานาคมาร่วมพิธีด้วย จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลในช่วงของการทำนาในเดือนต่อไป คือ เดือนหก (ไทย)
โดยเมื่อชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านทำธงของตนเสร็จแล้ว ก็จะจัดขบวนแห่มาพร้อมกับกองผ้าป่า เพื่อมาทำบุญร่วมกันที่วัด ช่วงไฮไลท์ของงาน คือ การแข่งขันยกธง ตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านไม่จำกัดจำนวน จะร่วมแรงกันอย่างพร้อมเพรียง ช่วยกันยกธงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับส่งเสียงโห่ร้อง ธงของหมู่ไหนยกขึ้นตั้งตรงได้ก่อนจะถือเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ การยกธงแต่ละหมู่บ้านจะมีเทคนิค วิธีการที่แตกต่างกัน แล้วแต่จะคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ยกธงได้รวดเร็วที่สุด
ธงของหมู่บ้านที่ยกขึ้นแล้ว จะถูกทิ้งไว้ประมาณ 8 วัน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำธงผืนใหญ่ของแต่ละหมู่บ้านมาเย็บต่อกันเป็นผ้าม่านผืนใหญ่แล้วนำไปถวายวัด เพื่อไว้ใช้ในงานต่าง ๆ ของวัดและชุมชนต่อไป ประเพณียกธง จึงเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน และยังให้ความสนุกสนานในวันสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
สถานที่จัดงาน : วัดเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจน์ ใช้เส้นทางถนนอู่ทอง ทางหลวงหมายเลข 324 (กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี) ออกจากตัวเมืองกาญจน์ไปประมาณ 31 ก.ม. เลี้ยวขวาที่หน่วยบริการประชาชนแยกเบญพาด เข้าไปในหมู่บ้านประมาณ 1 กม. แล้วเลี้ยวขวาที่หน้าโรงเรียนวัดเบญพาด ไปอีกประมาณ 800 เมตร ถึงวัดเบญพาด ( แผนที่ : https://goo.gl/maps/Kkgau3CSPsG2 )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : เทศบาลตำบลพังตรุ โทร. 034 510588
นอกจากนี้ ตามชุมชน เทศบาล และวัดต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ยังมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบย่อย ๆ ขึ้นในหลายพื้นที่ ททท.สำนักงานกาญจนบุรี จึงขอเชิญชวน นักท่องเที่ยวทุกท่านเดินทางมาท่องเที่ยวคลายร้อน เล่นน้ำสงกรานต์ และร่วมสืบสานประเพณีวิถีไทย ตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามกำหนดการจัดงานดังกล่าว
โดยนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง ร้านอาหาร และที่พักในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทางโทรศัพท์ 034 511200 และ 034 512500 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. หรือทาง facebook : แดนสวรรค์ตะวันตก
รู้หรือไม่ ? คนเมืองกาญจน์เล่นสาดน้ำสงกรานต์ วันที่ 17 เมษายน นะจ๊ะ
อย่าแปลกใจ ถ้าเดินทางมาเที่ยวเมืองกาญจน์ช่วงวันที่ 13-16 เมษายน แล้วพบว่าทำไมบรรยากาศการเล่นสาดน้ำสงกรานต์จะดูเหงา ๆ เพราะคนเมืองกาญจน์จะนิยมออกมาเล่นน้ำอย่างพร้อมเพรียงกันทุกพื้นที่ ในวันที่ 17 เมษายน เท่านั้น
โดยในเขตตัวเมือง พื้นที่ ๆ นักท่องเที่ยวนิยมมารวมตัวเล่นน้ำกันมากที่สุด ได้แก่ บริเวณถนนแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นย่านเกสต์เฮาส์ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาพักอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบริเวณถนนสองแคว (ถนนเลียบริมน้ำหน้าเมือง) และตลอดแนวถนนแสงชูโตในเขตตัวเมืองกาญจนบุรี
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: ททท. สำนักงานกาญจนบุรี