ย้อนวันวานที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง “อ่างทอง”

ตลาดศาลเจ้าโรงทองมี ประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้งที่จังหวัดอ่างทองถูกเรียกขานว่าเป็นแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองที่เป็นทั้งสนามรบ ทางเดินทัพและแหล่งเสบียงอาหาร ทำให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ

เดิมตลาดแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า บ้านไผ่จำศีล ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ช่วงปี 2420 มีการก่อสร้างศาลเจ้าไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นสถานที่สักการะภายในชุมชน สร้างด้วยศิลปะสวยงาม

ผู้คนจำนวนมากสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลเจ้า จึงเรียกขานชุมชนแห่งนี้ใหม่ว่า ศาลเจ้าโรงทอง ภายหลังสิ้นสุดการสู้รบ ชาวบ้านเห็นว่าทำเลที่ตั้งชุมชนไม่เหมาะสมจึงมีการย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ จากริมแม่น้ำน้อยมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่ง รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็นจังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน

ส่วนตลาดศาลเจ้าโรงทอง ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ก็คงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งตัวอาคารบ้านเรือนทรงเก่า โบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนวิถีที่สืบต่อกันมาของชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้ คือเสน่ห์ที่ยังคงเหลือของวันวาน

 

โดยเฉพาะตลาดเก่า ศูนย์กลางธุรกิจการค้าแต่เก่าก่อน ภายในแบ่งเป็นตลาดเหนือ ตลาดกลาง และตลาดใต้ ยังคงมีร้านค้าบางแห่งซึ่งตั้งอยู่ภายใน เปิดดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา เครื่องจักสาน ร้านขนมไทยโบราณ

ตลาดศาลเจ้าโรงทองเปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น. ไว้ว่างเมื่อไร ไปเดินเล่นตลาดย้อนวันวาน หาของกินอร่อยๆที่นี่ดูนะคะ

คำยอดนิยม